โครงการวาโก้บราเดย์ ปี 2566

“วาโก้” แบรนด์ชุดชั้นในรักษ์โลก สานต่อโครงการวาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ ปีที่ 12 ชวนทุกคน “ทิ้งบราเก่าถูกที่ ดีต่อเรา รักษ์ต่อโลก”

โครงการวาโก้บราเดย์ 21 มี.ค. 2566

หนึ่งในวิกฤตที่โลกของเรากำลังเผชิญคือ สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในที่โล่ง เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วาโก้ชวนทุกคนตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงสานต่อโครงการวาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ ปีที่ 12 อย่างเข้มข้นกับพันธกิจรักษ์โลก ด้วยการรับบริจาคบราหรือชุดชั้นในเก่าทั้งหญิง-ชาย นำไปกำจัดโดยการเผาอย่างถูกวิธี แบบ Zero Waste (เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์) แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งยังลดขยะชุมชน ลดปัญหาโลกร้อนและลดฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้และสร้างจิตสำนึกที่ดีเพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

นางอินทิรา นาคสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 53 ปี ที่บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) วาโก้ยังครองความเป็นผู้นำธุรกิจชุดชั้นในด้วยวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญและดูแลในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งผลิตภัณฑ์วาโก้ทุกชิ้นที่ผ่านกระบวนการผลิตปลอดสารพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงกระบวนการจัดการกับผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพหรือสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี กับโครงการวาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ รับบริจาคบราหรือชุดชั้นในเก่าทั้งหญิง-ชาย เพื่อนำไปกำจัดโดยการเผาอย่างถูกวิธี เพราะ "บรา" หรือชุดชั้นในเป็นไอเท็มสำคัญสำหรับทุกคน โดยวัสดุส่วนใหญ่ผลิตจากโพลิเมอร์ส่งผลให้บรา 1 ตัว ใช้เวลาย่อยสลายกว่า 400 ปี อีกทั้งการเผาในที่โล่งยังสร้างมลพิษและฝุ่น PM 2.5 โดยร่วมกับ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP นำชุดชั้นในที่ได้รับการบริจาคไปแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ทดแทนการใช้ถ่ายหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าในระบบปิด ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงานจากฟอสซิลต่างๆ ลดผลกระทบการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือลดโลกร้อน (Global Warming)

จากสถิติปี 2566 อ้างอิงจาก populationpyramid.net พบว่าจำนวนผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 10-69 ปี มีจำนวนกว่า 29,351,011 คน หากคาดการณ์จำนวนผู้หญิงไทยที่ซื้อชุดชั้นในใหม่ จำนวนปีละ 5-12 ตัวต่อปี คาดว่าจะเกิดการทิ้งชุดชั้นในเก่าที่เสื่อมสภาพคนละ 2 ตัวต่อปี เท่ากับว่าจะเกิดขยะพลาสติกจากชุดชั้นในเก่าเพิ่มขึ้นกว่า 5,870 ตันต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น วาโก้จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและร่วมรักษ์โลกกับวาโก้

นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการ “วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” ในปี พ.ศ. 2555-2565 วาโก้ได้มีส่วนช่วยกำจัดบราเสื่อมสภาพไปแล้วจำนวน 720,664 ตัว รวมน้ำหนัก 72,066 กิโลกรัม หรือลดขยะชุมชนไปได้กว่า 72 ตัน ทดแทนการใช้พลังงานถ่านหินได้กว่า 468 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึงกว่า 39,036 ต้น

พิชญ์สินี วีระสุทธิมาศ หรือ “โบกี้ ไลอ้อน” นักร้องสาวมากความสามารถ กล่าวเสริมว่า “ก่อนอื่นต้องขอบคุณวาโก้ที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งทุกคนสามารถรักษ์โลกด้วยหลากหลายวิธีตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น ปิดแอร์ปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ หันมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกหรือแยกขยะก่อนทิ้ง ในส่วนของโบคือเป็นคนที่มีเสื้อผ้าเยอะมาก ตัวไหนที่ไม่ใช้แล้วแต่สภาพดีก็นำไปบริจาค ส่วนบราหรือชุดชั้นในเก่าที่ไม่ได้ใช้ต้องทิ้งเท่านั้นนะคะอย่าไปเสียดาย เพราะไม่ดีต่อสุขภาพเต้านมของเราเอาเสียเลย แค่นำชุดชั้นในเก่าทุกแบรนด์มาบริจาคกับวาโก้เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี แค่ทิ้งให้ถูกที่ก็ช่วยโลกได้แล้วค่ะ” โบกี้ กล่าวทิ้งท้าย

มาร่วมเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการนำบราเก่าหรือชุดชั้นในทั้งหญิงและชายทุกแบรนด์มาบริจาคได้ตลอดทั้งปีกับโครงการ “วาโก้บราเดย์ บราเก่าเราขอ” ที่วาโก้ช็อปและเคาน์เตอร์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือทางไปรษณีย์ส่งถึงฝ่าย CSR บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) 132 ซอยเจริญราษฎร์ 7 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ 10120

ข้อมูลเพิ่มเติม

วาโก้ถือเป็นแบรนด์แรกในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว (Green Label) จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบและกระบวนการผลิตตามแนวทาง “BCG Model” ซึ่งประกอบด้วย BIOECONOMY ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติหมุนเวียน ย่อยสลายได้จากเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น ยางพารา ฝ้าย เยื่อไผ่และเต้าโมลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม CIRCULAR ECONOMY ชุดชั้นในผลิตจากวัสดุหมุนเวียนจากของเสียในกระบวนการผลิต (Pre-Consumer) วัสดุที่ถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม (Post-Consumer) เช่น แห-อวนในท้องทะเล รวมถึง Recycle Material GREEN ECONOMY กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Green Label / Green Industry (GI.4) / Eco Factory เป็นต้น2